ถอดรหัสเกษตรดั้งเดิม สู่ Smart Farmer อิสรภาพที่ยั่งยืน

สภาพอากาศเป็นสิ่งที่แตกต่างมากที่สุดของการทำเกษตรแต่ละพื้นที่ บางแห่งหนาว บางแห่งร้อน ขณะที่บางแห่งแล้ง การแก้ไขพื้นที่ตามความต้องการของพืชเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในอดีต นั่นเพราะว่าต้นไม้พูดไม่ได้ และปศุสัตว์ก็บอกเราไม่ได้ว่าเค้ากำลังอยากได้อะไร ทางออกของเรื่องราวเหล่านี้ Smart Farmer ช่วยแก้ไขได้

เปลี่ยนทุกสิ่งให้สื่อสารกันได้ด้วย IoT

จะดีมั้ยถ้าฟาร์มที่เราทำอยู่นั้นจะคอยบอกเราว่าอากาศกำลังร้อนเกินไป แล้วรีบจัดการลดความร้อนลงแทนเราทันที หรือจะดีมั้ยถ้าความชื้นในอากาศที่ไม่ส่งผลดีต่อเมล่อนในโรงเรือนจะได้รับการแก้ไขทันต่อเหตุการณ์แบบอัตโนมัติทันที หรือแม้กระทั่งการตรวจจับความผิดปกติของพืช ความสมบูรณ์ของดิน หรือจับแมลงให้เราหมดห่วง

Smart Farmer

ฟังไม่ผิดหรอกเพราะผมกำลังจะบอกว่าแต่ละส่วนของฟาร์มสามารถคุยกันได้เองแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเค้าก็แก้ไขสถานะการณ์เฉพาะหน้ากันเองเรียบร้อย มีเพียงรายงานเท่านั้นที่เจ้าของฟาร์มจะต้องมาอ่านแต่ละวัน

เมื่อเป็นเช่นนั้นการทำฟาร์มรุ่นใหม่ก็จะช่วยให้คำนวนค้นทุนและประมาณการผลผลิตได้ง่ายขึ้น ช่วยลดจำนวนแรงงานที่จะต้องใช้ลงได้อย่างมหาศาล และที่สำคัญเมื่อเข้าใจพืชมากขึ้น ผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกย่อมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

Smart Farmer แล้วฟาร์มเก่า คนแก่จะทำอย่างไร

การทำให้ฟาร์มอัจฉริยะ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องใช้งานยากขึ้น แต่เป็นเรื่องที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ขณะที่การลงทุนไม่สูงมาก ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดที่ผมได้คุยกับนักวิชาการจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทคแล้ว พบว่าราคาหมื่นต้นๆ (งบประมาณปรับตามความต้องการ) ก็สามารถเปลี่ยนโรงเรือนธรรมดาให้สมาร์ทมากขึ้นแล้ว

Smart Farmer
กล่องควบคุมการทำงาน

โดยจากฟาร์มตัวอย่าง โคโค่ เมล่อน ที่จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าการทำให้ฟาร์มฉลาดขึ้น โดยใช้ 3 ส่วนที่สำคัญ นั่นคือ 1.เซ็นเซอร์ต่างๆที่จะเข้ามาวัดค่าจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชนั้น 2.โปรแกรมการทำงานที่จะช่วยให้เกิดความเหมาะสมของการปลูกตามหลักวิชาการ และ 3.เครือข่ายที่จะเชื่อมโยงอุปกรณ์เหล่าให้สามารถสื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา

ฟาร์มเมล่อนแห่งนี้ใช้โรงเรือนขนาดใหญ่สำหรับปลูก มีการติดตั้งกล่องเซ็นเซอร์ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเนคเทค 1 กล่องรองรับเซ็นเซอร์ ได้ 2 ตัว และ 1 โรงเรือนก็ใช้เซ็นเซอร์เพียงแค่ 4 ตัวเท่านั้นนั่นก็คือ 1.วัดอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ 2.วัดปริมาณแสง 3.วัดความชื้นในดิน และ 4.วัดการเติบโตด้วยกล้องไอพี

4 ส่วนนี้เป็นอุปกรณ์พิ้นฐานเพื่อตรวจวัดค่าที่จะช่วยให้เรารับรู้ความเปลี่ยนแปลงและแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมต่อพืชมากที่สุด ขณะที่ความจำเป็นอีกส่วนอยู่ที่โปรแกรมที่จะแปลงค่าทางไฟฟ้าให้ออกมาเป็นภาษาที่มนุษย์เข้าใจ และจะต้องสามารถเข้าดูค่าต่างๆ หรือรายงานฟาร์มจากอุปกรณ์ได้หลากหลายแพลตฟอร์มทั้งมือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน

การพัฒนาครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการนำร่อง “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ CSR ของดีแทคที่มุ่งมั่นผลักดันเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับเกษตกรมากขึ้น ช่วยพัฒนาระบบให้สามารถดูค่าต่างๆผ่านแดชบอร์ดได้อย่างสะดวก สามารถตั้งค่าสั่งการอุปกรณ์ต่อเนื่องได้ง่ายขึ้นหรือตอบสนองอัตโนมัติเมื่อถึงจุดที่กำหนดไว้ เช่นเมื่ออากาศเริ่มร้อนจัด ระบบจะสั่งการให้เครื่องพ่นหมอกเปิดการทำงานเพื่อลดอากาศร้อนที่เกิดขึ้น และเมื่อเครื่องวัดอุณหภูมิส่งข้อมูลว่าอากาศเย็นเป็นปกติเครื่องพ่นหมอกก็จะหยุดทำงานเองแบบอัตโนมัติเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนฟาร์มธรรมดาที่จะต้องเสี่ยงกับสภาพอากาศหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ควบคุมไม่ได้ให้สามารถบอกเราและแก้ไขกันได้เอง ช่วยให้การทำงานของเกษตรกรง่ายขึ้นมาก แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าเกษตกรจะตกงาน นั่นเพราะยังมีอีกหลายส่วนที่จะต้องทำ เช่นการตัดแต่งกิ่ง การนำดินไปวิเคราะห์แร่ธาตุในดินเป็นระยะ และที่สำคัญการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ยังคงเป็นเรื่องที่อัตโนมัติไม่ได้เช่นกัน

แม้ว่าที่กล่าวมาจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในบางเรื่อง หรือยังคงเป็นแค่โครงการที่อยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น แต่เรื่องนี้ก็จะยังคงต้องพัฒนาระบบต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อนาคตของการเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้น

แน่นอนว่าข้อมูลของความต้องการในพืชแต่ละชนิดเป็นสมบัติของชาติที่จะถูกเก็บไว้เป็นสูตรสำเร็จของการทำเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราได้สูตรสำเร็จแล้วนำมาควบรวมกับแพลตฟอร์มการปลูกและสั่งงานอัตโนมัติ ไม่แน่ว่าเราอาจจะมองฟาร์มเช่นนั้นเป็นอีกหนึ่งโรงงานอัตโนมัติที่ผลิตผลไม้ให้เรากินอย่างยั่งยืนก็เป็นได้

banner Sample

Related Posts