เจาะ ‘พลังงานมหานคร’ ความหวังของ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ในเมืองไทย

รถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นที่พูดถึงกันมากในยุโรป หลายแบรนด์เริ่มยุติการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อหันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์กึ่งไฟฟ้าและไฟฟ้า 100% กันมากขึ้น เช่นเดียวกับในฝั่งเอเชียที่หลายประเทศเริ่มมีการใช้งาน รถยนต์ไฟฟ้า กันอย่างแพร่หลาย มีการพัฒนาทางด้านแบตเตอรี่และนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งแบรนด์ที่พร้อมมากอย่างนิสสัน หรือฝั่งเกาหลีอย่างฮุนไดและเกีย ยังไม่นับรวมน้องใหม่จากจีนที่เริ่มส่งผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด ส่วนในประเทศไทย “พลังงานมหานคร” ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่กำลังจะปั้นรถไฟฟ้าแบรนด์ไทย ที่จะมาพร้อมสถานีชาร์จทั่วประเทศ

การเกิดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยนั้น หลายคนกังวลว่าสถานีชาร์จยังไม่มีความพร้อม ยิ่งมีการประโคมข่าวในด้านลบจากบรรดาค่ายรถที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ตอบสนองตลาดในส่วนนี้ ยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ในความจริงแล้วคนไทยสัมผัสกับรถยนต์ประเภทนี้มาหลายปีแล้ว

โดยเฉพาะรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟเพื่อวิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนในระยะทางหนึ่ง ซึ่งค่ายยุโรปนำเข้ามาจำหน่ายและมีลูกค้านิยมกันเป็นจำนวนมาก ก็นับเป็นการแสดงความพร้อมอย่างหนึ่งในตลาดของรถยนต์ประเภทนี้

บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่จะช่วยกระตุ้นให้ตลาด รถยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เริ่มเป็นที่สนใจในฐานะเจ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าหรือสถานีชาร์จไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ “EAAnywhere” ที่ออกมาประกาศว่าภายในปี 2561 นี้จะมีจุดบริการทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,000 สถานี

โดยจะติดตั้งในพื้นที่ของหน่วยงานราชการและเอกชนที่เป็นพันธมิตร วางงบลงทุนรวม 600 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีการเปิดตัวสถานีชาร์จไปแล้วนับร้อยแห่ง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งบริษัท MINE Mobility Research Co., Ltd.ขึ้นเพื่อพัฒนาต่อยอดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ไม่ใช่ว่าพลังงานมหานครจะเป็นบริษัทโนเนมและไม่มีที่มาที่ไป หรือจัดตั้งขึ้นตามกระแสเท่านั้น เพราะบริษัทนี้อยู่ภายใต้อ้อมอกของยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของไทยอย่าง

รถยนต์ไฟฟ้า

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) กลีเซอรีนบริสุทธิ์และผลิตภัณฑ์พลอยได้ และได้ตั้งบริษัทย่อย ชื่อ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด (EMN) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์

โดยในส่วนของ พลังงานบริษัทสุทธิ์ นั้น มีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลม และได้มีการเข้าไปถือหุ้น ใน Amita Technologies Inc.

ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานไฟฟ้าอีกหลายแห่ง ย่อมแสดงให้เห็นว่าบริษัทพลังงานมหานครมีความน่าสนใจมากในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

“การขยายไลน์เข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในชื่อ “EA Anywhere” ในครั้งนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และแนวคิดที่ว่าถ้าเราอยากให้มีคนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาก เราต้องลงทุนสร้างองค์ประกอบที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกไว้อย่างเพียงพอ

ทั้งด้านการจัดให้มีหัวชาร์จไฟฟ้าทุกๆ จุดสำคัญรองรับการเดินทางทั่วประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยของเรา หัวชาร์จนี้จะสามารถประจุไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วถึงระดับ Super Charge รองรับการให้บริการสำหรับทุกยี่ห้อ ตลอดจนสามารถรองรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ในอนาคต”

นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ Chief Marketing Officer บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด กล่าวว่า บริษัทแม่มีความพร้อมทางด้านพลังงานไฟฟ้าในหลายๆ ด้านอยู่แล้ว การต่อยอดไปสู่ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท พลังงานมหานครจึงไม่ใช่เรื่องยาก

เราก็ได้นำมาพัฒนาต่อยอดเพราะเรามีโนว์ฮาว์รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด โดยได้มีการพัฒนารถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบจากฝีมือการออกแบบและพัฒนาของทีม R&D ของบริษัทคนไทยที่มุ่งมั่นทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2560 จนเป็นที่มั่นใจ ก่อนจัดตั้งบริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด ขึ้นมาในปลายปีเดียวกัน โดยมุ่งหวังพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและฟังก์ชันต่างๆ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งาน

การเปิดตัวรถยนต์ของเราเองภายใต้ชื่อ Mine เรียกว่าเป็นมิชชันโนอีมิสชัน เราอยากใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่และเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะก้าวไป เรามองจากค่ายยักษ์ในยุโรปที่ทุกคนปรับตัวหมด และจีนมีรถยนต์ไฟฟ้าออกมาหลายแบรนด์ นับเป็นทิศทางที่ดี แต่สิ่งที่เขาทำยังเป็นแบรนด์ตลาดบน แต่ของเราเน้นราคาจับต้องได้

โดยที่มาของชื่อ MINE Mobility มาจากคอนเซปต์ ‘Mission No Emission’ หรือพันธกิจไร้มลพิษ ที่มุ่งเน้นการสร้างยานยนต์พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัด ปลอดภัย ง่ายต่อการบำรุงรักษา เพื่อให้คนไทยได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย

และกำลังพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ 3 รุ่น ทั้ง City EV Concept, MPV EV- Concept และ Sport EV Concept โดยคาดว่าเอ็มพีวีจะเป็นรถที่เปิดตัวก่อนซึ่งตามแผนที่วางไว้เปิดปลายปี 2562 ส่วนอีก 2 รุ่นหลังต้องรอในลำดับต่อไป

การที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีตัวรองรับสถานีชาร์จ EAAnywhere ได้ประกาศทิศทางว่า 1,000 สถานี โดยได้ร่วมกันห้างสรรพสินค้า ร้านประดับยนต์ ปั้มน้ำมัน ธนาคาร ร้านอาหารขนาดย่อย คอมมูนิตี้มอลล์ ตอนนี้แผนดำเนินการกำลังไปได้ดี หลายคนกำลังตอบรับที่จะทำสถานีประจุ ตอนนี้มีประมาณ 160 สถานีแล้ว

นอกจากนี้ยังได้มีความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผลักดัน “โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า” ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทปลั๊กอินไฮบริดจ์ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และประเภทแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV)

ทั้งนี้ในส่วนของ กฟน.นั้นจะทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการที่สนใจ และมีความพร้อมในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ เพื่อให้บริการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยบริษัท พลังงานมหานครจะเป็นผู้สนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าให้แก่ กฟน.

“ทีแรกไม่มีคนเข้าใจในเรื่องนี้ แต่พอเราเริ่มขับเคลื่อน คนเริ่มรับรู้ และเริ่มมีรถยนต์เพิ่มขึ้นมาก ค่ายรถเริ่มนำเข้ามา ประกอบกับลูกค้าที่ใช้ทำรีวิวด้วย ปัจจุบันรถที่มาใช้งานจะเป็นปลั๊กอินไฮบริด การทำปลั๊กเรายึดตามมาตรฐานบ้านเรา ไทพ์ทูและซีซีเอสคอมโบทู เพราะส่วนใหญ่ค่ายรถจะยึดตามแนวของสมอ. เรามองว่าปีหน้าภาพรถไฟฟ้าน่าจะชัดเจนมากขึ้น”

นายธนพัชร์ กล่าวว่า หัวชาร์จของ EA Anywhere ใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและปลอดภัย มีทั้งแบบไฟฟ้ากระแสตรง หรือ Direct Current :DC และกระแสไฟฟ้าสลับหรือ Alternating Curre : AC (ชาร์จนาน) เราวางแผนที่จะมีสถานีชาร์จระหว่างทางหลวงทุก 50-100 กิโลเมตร

เราจะดูจุดที่เป็นไปได้เพื่อไปติดตั้ง การตั้งแต่ละสถานีแล้วแต่กำลังไฟ แต่ที่มองไว้จะมี 3 หัวจ่าย 3 เครื่อง ชาร์จได้ 4 คัน ตอนนี้มีร้านอาหารครัวบ้านขวัญ แยกวังมะนาว จังหวัดเพชรบุรี มี 15 ช่อง การติดตั้งที่นี่เยอะเพราะเจ้าของพื้นที่อยากให้มองว่าเป็นภาพใหญ่

รถยนต์ไฟฟ้า

โมเดลการทำธุรกิจจะเป็นความร่วมมือระหว่างเรากับเจ้าของพื้นที่ เพราะหากเป็นการให้เช่าหรือขายจะยาก เราลงอุปกรณ์ระบบ พันธมิตรลงทุนเรื่องพื้นที่จอด เป็นความร่วมมือร่วมกัน เราทำสถานีชาร์จแล้วทำซอฟต์แวร์เอง เรามีซอฟต์แวร์เฮ้าส์ในเครือ ลูกค้าไม่ต้องพกบัตรเครดิตหรือเงินสด

เพียงโหลดแอปพลิเคชัน EA Anywhere บนโทรศัพท์มือถือที่รองรับ จากนั้นทำการค้นหาและตรวจสอบสถานีให้บริการ รวมถึงจองและชำระเงินด้วยความสะดวก สบาย รวดเร็ว และปลอดภัย ทำธุรกรรมทั้งหมดบนมือถือ จุดเริ่มต้นคือลูกค้าเลือกชั่วโมงการชาร์จแล้วให้ตัดเงินผ่านบัตรเครดิตได้ทันที แต่ถ้าเกินชั่วโมงที่บอกไว้ก็จะมีค่าปรับ

“ปีหน้าน่าจะชัดเจนมากขึ้น จากการเข้าไปคุย เรามีทีมเข้าไปหาพื้นที่พบว่ามีคนสนใจมากขึ้น พอไปพูดปุ๊บง่าย การเตรียมพื้นที่ เราจะมีทีมสำรวจ ว่าเป็นจุดที่ควรติดตั้งไหม ตามเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ ฟิตเนส คนเข้าใจมากขึ้น เริ่มมีการติดต่อเข้ามา

เพราะสถานีชาร์จในช่วงแรกๆ รถที่เป็นปลั๊กอินยังใช้งานน้อยมาก แค่คนก็เริ่มตื่นตัว และยอดขายแต่ละค่ายก็ดีดตัวขึ้นมามาก และรถที่เข้ามาใช้บริการ โหลดแอปพลิเคชันตอนนี้ก็มีหลายพันคันที่เป็นลูกค้าที่มีรถแบบนี้จริงๆ สำหรับรายได้จากโครงการนี้จะมาจากการคิดอัตราค่าบริการ

ซึ่งแต่ละสถานีจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้ง โดยจะแบ่งค่าบริการกับพันธมิตรที่ให้พื้นที่ในการติดตั้งสถานีชาร์จฯ แต่ค่าไฟฟ้านั้นจะเป็นอัตราที่รัฐกำหนดไว้ โดยบริษัทคาดว่าสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะคืนทุนภายใน 5-7 ปี”

ความน่าเชื่อถือของแบรนด์คือ เรามีการเตรียมความพร้อมไว้ส่วนหนึ่ง เราสามารถตอบคำถามได้ว่ามีสถานีชาร์จไหม วิ่งได้ไกลแค่ไหน เสียทำอย่างไร เราสร้างสถานีชาร์จเป็นเซอร์วิสโพรวายเดอร์

ส่วนตัวรถไฟฟ้านั้น หลังจากที่เราไปออกงานมาถือว่าดีมีคนให้ความสนใจกันมาก เพราะมีรูปลักษณ์และราคาที่เหมาะสม มีสมรรถนะเหมาะสม ในเบื้องต้นเราตั้งราคาเอ็มพีวีไม่เกิน 1 ล้านบาท และซิตี้คาร์ไม่เกิน 6 แสนบาท เราตอบโจทย์ลูกค้ารุ่นใหม่

ล่าสุดบริษัทฯ ยังได้การจัดทริปทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมเปิดสถานีให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่น และเพื่อให้พิสูจน์ให้เห็นว่า หัวชาร์จทุกสถานีสามารถรองรับรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ได้ทุกยี่ห้อ และทุกรุ่น

โดยสามารถเลือกใช้บริการในสถานีต่างๆ ตลอดเส้นทางยอดนิยมนี้ได้อย่างมั่นใจ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ขับขี่ที่มักจะแวะพักในจุดต่างๆ และนี่เป็นเพียงเส้นทางแรกของ EA Anywhere เพราะเราเตรียมจะเปิดเส้นทางใหม่ๆ และสถานีในเมืองสำคัญๆ อีกเร็วๆ นี้

สำหรับในภาพรวมของธุรกิจทั้งกลุ่มนั้น การเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะเป็นตัวเร่งการใช้รถไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนแผนการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมขนาดกำลังผลิต 50 GWh มูลค่าการลงทุน 1 แสนล้านบาทในไทยของบริษัทแม่ พลังงานบริษัทสุทธิ์

โดยบริษัทจะนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมจากบริษัทไต้หวันที่ได้เข้าไปถือหุ้นอยู่ 35% โดยเฟสแรกจะผลิตแบตเตอรี่ 1 GWh มูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 3 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตและรับรู้รายได้ภายในต้นปี 2562 หลังจากนั้นอีก 18 เดือนจะลงทุนเฟส 2 อีก 49 GWh ซึ่งการลงทุนเฟส 2 นี้จำเป็นต้องหาพันธมิตรร่วมทุนที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหลายบริษัท โดย EA จะถือหุ้นใหญ่

การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะต้องใช้เวลา แต่การเริ่มต้นในการพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าของ พลังงานมหานคร ก็ถือว่าเป็นการวางรูปแบบทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ที่จะเป็นส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้เข้ามาเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จให้มากขึ้น เพราะขณะนี้เทรนด์ของรถยนต์ทั่วโลกก็มุ่งไปในแนวทางของรถยนต์ไฟฟ้ากับเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงแต่ความพร้อมและของผลิตภัณฑ์เท่านั้น

banner Sample

Related Posts