กมธ.วิ หารือ ทูตญี่ปุ่น ออกโรงชวนไทยเข้า CPTPP

ทูตญี่ปุ่น

ทูตญี่ปุ่น

ทูตญี่ปุ่น ออกโรงชวนไทยเข้า CPTPP ชี้ข้อดีบริษัทญี่ปุ่นในไทยพร้อมขยายการลงทุน UPOV1991 โอ่การประกาศใช้ในญี่ปุ่นไม่มีปัญหา พร้อมส่งตัวแทนเข้าช่วยเหลือด้านกฎหมายการยกเว้นเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ ขณะที่ กมธ.ขอข้อมูลกฎหมายห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ 800 กว่าชนิดพืชที่ชาวญี่ปุ่นค้านจนต้องถอนออกไปสภาไปก่อน

นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือกับ นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้า ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายศุภชัย ใจสมุทร รองประธาน, นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง โฆษก นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมาธิการ และ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

โดยเอกอัครราชทูต นะชิดะ เชิญชวนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP เพราะเป็นประโยชน์มาก บริษัทญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนใหญ่ในไทยมี 5,500 บริษัทพร้อมขยายการลงทุน อยากมาลงทุนเพิ่ม อย่าไปคิดว่า จะเพิ่ม GDP แค่ 0.12% แต่ให้คิดว่า ถ้าไทยไม่เข้าจะเสีย GDP 0.37%

ทางด้านประธาน กมธ.วิ CPTPP ชี้แจงว่า เข้าใจในประโยชน์ แต่สังคมไทยกำลังมีข้อห่วงกังวลเรื่องการผูกขาดพันธุ์พืชจากความตกลง UPOV1991 และเรื่องยา จึงต้องมีการพิจารณากันอย่างละเอียด

ทางด้านนายนะชิดะ กล่าวว่า ได้เห็นข้อห่วงใยขององค์กรพัฒนาเอกชนแล้ว ค่อนข้างสุดขั้วและหัวรุนแรง (radical and extreme) ที่ญี่ปุ่นก็เคยมีภาคเกษตรที่กังวลเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตร แต่เกษตรกรญี่ปุ่นไม่กังวลเรื่อง UPOV1991 รัฐบาลเราก็อธิบายหลายๆครั้ง เชิญ ส.ส.ที่หนุนภาคเกษตรมาทำความเข้าใจหลายครั้งจนยอมรับ ทางสถานทูตมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะมาให้ข้อมูล กมธ. โดยเฉพาะที่อนุญาตให้รัฐออกกฏหมายยกเว้นเก็บเมล็ดพันธุ์ได้

ด้านประธาน กมธ.วิ กล่าวว่า จะให้มาชี้แจงใน กมธ. สามารถตั้งเป็นที่ปรึกษาได้ด้วย จากนั้น นายวีระกรเชิญชวนให้กมธ.อื่นตั้งคำถามหรือให้ความเห็น

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร รองประธานฯจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อทูตญี่ปุ่นว่า กมธ.มีภาคส่วนหลากหลาย เราต้องคุยกัน ไม่มีการตั้งธง แต่อยากทราบประสบการณ์ญี่ปุ่น เคยมีเกษตรกรถูกฟ้องร้องจากการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์หรือไม่ ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ชี้แจงว่า ยังไม่มีกรณีการฟ้องร้องดังกล่าว

ทางด้าน นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญ กล่าวว่า เรื่องยา ที่ไทยกังวลเพราะบริบทไทยไม่เหมือนญี่ปุ่น เราผลิตยาต้นแบบไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) แล้วสุ่มเสียงจะโดนฟ้อง หรือต้องเชื่อมโยงระบบขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตร (patent linkage) แล้วทำให้ยาชื่อสามัญ เข้าสู่ตลาดช้าลง ผลกระทบทางลบจะเยอะมาก

ทางด้าน นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ หนึ่งในกรรมาธิการ กล่าวต่อทูตญี่ปุ่นว่า เป็นตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs ) ในกมธ. ขอบคุณท่านทูตที่ได้ยินสิ่งที่ภาคประชาสังคมไทยแสดงความกังวลออกไป

“แม้ท่านจะเห็นว่า ค่อนข้างสุดขั้วและหัวรุนแรง (radical and extreme) ขอให้เข้าใจว่า ที่เราเป็นแบบนั้นเพราะประสบการณ์การที่ประเทศไทยทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) กับญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้น ชัดเจนว่า ญี่ปุ่นต้องการส่งขยะทิ้งที่ประเทศไทย เราคัดค้านแต่ไม่สำเร็จ ผลที่เกิดขึ้น ตอนนี้บ้านเราก็กลายเป็นถังขยะโลก นับจากความตกลงนั้น

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องในอดีต วันนี้ ดิฉันไม่พูดถึง จะพูดถึงเรื่องปัจจุบัน ยินดีที่ทางญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล UPOV1991 แต่ต้องการให้เชิญ นายมาซาฮิโกะ ยามาดะ อดีตรัฐมนตรีเกษตร ที่ถูกนายกฯชินโซะ อาเบะปรับออก อยากทราบว่า ทำไมเขาค้านการที่ญี่ปุ่นเข้า CPTPP แล้วอยากทราบรายละเอียดของคดีและคำพิพากษาคดีที่เขาฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ยกเลิกกฎหมายให้ท้องถิ่นมีหน้าที่พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกษตรกร ซึ่งศาลชี้ว่า รัฐบาลอาเบะยกเลิกกฎหมายนี้เพราะเป็นเงื่อนไขเข้า CPTPP

นอกจากนี้ อยากขอข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ห้ามประชาชนเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อ เพิ่มจาก 300 กว่าชนิดพืชเป็น 800 กว่าชนิดพืช ที่ถูกประชาชนคัดค้านจนต้องถอนออกจากการประชุมสภาสมัยนี้

ทูตนะชิดะ กล่าวขอโทษที่อาจผิดพลาดในการสื่อสาร และว่า อดีตรัฐมนตรียามาดะ ตอนนี้ไม่มีบทบาททางการเมืองและเกษียณแล้ว ส่วนกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชกำลังทำความเข้าใจ รัฐบาลจะพยายามเสนอใหม่ในสภาสมัยหน้า ซึ่งทาง กมธ. ยังสนใจข้อมูลดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณา

banner Sample

Related Posts