ไทยคม เตรียมยื่นอนุญาโตตุลาการยุติข้อพิพาทกับกระทรวงดีอี

ไทยคม ชี้ข้อกล่าวหาของกระทรวงดีอีทำให้เสียชื่อและกระทบความเชื่อมั่น เตรียมยื่นอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาด ในข้อพิพาทเรื่องดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8
ตามที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เรื่อง “ข้อพิพาทเรื่องดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ” (ที่ TC-CP 019/2560)
โดยเป็นการแจ้งถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ วาระพิเศษ ครั้งที่ 11/2560 ซึ่งได้จัดประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ให้บริษัทฯ ยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (“กระทรวงดิจิทัลฯ”) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ
ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฯ) ขณะที่บริษัทฯ มีความเห็นต่างว่า การดำเนินการดาวเทียมทั้ง 2 ดวงดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของการรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
โดยที่บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ และมิได้มีการดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อสัญญาฯ
ที่ประชุมจึงให้บริษัทฯ ยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ อันเป็นข้อกำหนดตามสัญญาฯ ข้อ 45.1 ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทและคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้
ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการยื่นข้อโต้แย้งต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ดังทราบแล้วนั้น
ต่อมา ได้มีข่าวปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนและตีพิมพ์ในหัวข้อข่าว “จ่อฟ้องศาลปกครองชี้ขาด “ดีอี” บี้ “ไทยคม” ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน” (นสพ.ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560)
โดยมีเนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า ….เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ควรจะยื่นฟ้องศาลปกครองให้ตัดสินชี้ขาด เพื่อสร้างความชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนของคณะอนุญาโตตุลาการเพราะจะล่าช้า…
ข่าวดังกล่าว มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสาธารณชน บมจ.ไทยคม ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
จึงขอชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นข่าวดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
1.บริษัทฯ เห็นว่าการที่กระทรวงดิจิทัลฯ จะนำข้อพิพาทดังกล่าวยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ตัดสินชี้ขาด เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการที่ระบุในสัญญาฯ
อีกทั้ง ข้อกำหนดในเรื่องการดำเนินการระงับข้อพิพาทเป็นข้อกำหนดที่ระบุเอาไว้ในสัญญาฯ ที่ทำขึ้นระหว่าง บมจ.อินทัช และกระทรวงดิจิทัลฯ คู่สัญญาจึงต้องดำเนินการโดยวิธีการที่ระบุไว้ในสัญญา
2.บมจ.อินทัช และ บมจ.ไทยคม ได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาต่างๆ ตามกระบวนการและขั้นตอนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ด้วยความสุจริต มาตลอดระยะเวลา 26 ปี
และบริษัทฯ เชื่อมั่นในสิ่งที่ได้ดำเนินการว่าถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นฝ่ายเสนอเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้มีคนกลางที่มีความยุติธรรมเข้ามาช่วยตัดสิน หาทางออก และ/หรือ ข้อยุติบนพื้นฐานของความชอบธรรมตามกฎหมาย
banner Sample

Related Posts