ก.อุตฯ ระดมสมอง กำหนดยุทธศาตร์เอสเอ็มอีภาคเหนือ

ก.อุตฯ

ก.อุต เดินหน้าระดมสมอง ค้นความต้องการผู้ประกอบการท้องถิ่น กำหนดยุทธศาสตร์สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าเชิงการค้า พร้อมสนับสนุนกลุ่มคลัสเตอร์เศรษฐกิจในหลายมิติ เร่งสร้างแบรนด์เล็กสู่แบรนด์โลกอย่างยั่งยืน ด้วยอัตลักษณ์ของสินค้าผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้ เรามาร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ การดำเนินงานด้านการออกแบบ แปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร จากเกษตรต้นทางสู่ เกษตรแปรรูป โดยผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ให้เกิดความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

วันนี้เรามีเป้าหมายที่การเกษตรแปรรูปอาหารเป็นหลัก โดยกลุ่มของชา ซึ่งประเทศไทยผลิตมากเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน กลุ่มกาแฟ ที่ต้องการสร้างแบรนด์สู่ตลาดสากลระดับพรีเมี่ยม โดยทั้ง 2 กลุ่มมีศักยภาพในการพัฒนาสู่ระดับโลก และพื้นที่ภาคเหนือก็มีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้ว

ขณะที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่าง ‘ไผ่’ ซึ่งมีความต้องการ และศักยภาพในตลาดโลกอย่างเช่นจีน โดยผลิตภัณฑ์ไผ่ของไทย ยังต้องการพัฒนาต่อเนื่อง รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ และการส่งเสริมโอกาสทางการตลาด เพื่อสร้างให้เกิดมาตรฐานและก้าวสู่สากลได้อย่างยั่งยืน

วันนี้เรามีการจัดตั้งศูนย์ การออกแบบอย่างศูนย์ ITC ที่จัดตั้งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออกแบบ ที่นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ในสินค้า เพื่อให้เกิดมูลค่าของสินค้าที่ดีขึ้น สามารถส่งขายสู่ตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้เราต้องการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ของกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเสนอเรื่องได้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมีตัวตนและโครงการที่มีประสบการณ์เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มสมุนไพรที่มีการรวมตัวกัน ก็สามารถสร้างความเข็มแข็งให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ซึ่งการรวมกลุ่มจะมีความยั่งยืน และความร่วมกับภาครัฐจะมีความคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งการส่งต่อเรื่องงบประมาณจะสามารถจัดงบให้ได้ และไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ

นอกจากนี้ เรายังตกลงร่วมกันในการทำงานแบบครบถ้วน ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยจะมีการทำงานเพื่อสลายอุปสรรคในการทำงานของเกษตรอุตสาหกรรมทั้งในส่วนของข้อกฏหมาย การแปรรูปที่จะต้องใช้เทคโนโลยี อีกทั้งการตลาดจะต้องทำตั้งแต่นาทีแรก เพื่อไม่ให้เกิดสินค้าล้นตลาด

ในส่วนของข้อมูล อาจจะต้องขอความร่วมมือกับแต่ละกลุ่ม เพื่อเข้าไปทำงานร่วมด้วย ในการรวบรวมข้อมูล เพื่อรวบรวมเป็น Big Data ในการผลิตของทั้งประเทศ ทั้งส่วนของจำนวนเกษตรกร การผลิต ความต้องการ และข้อมูลอีกมากมาย เพื่อการพิจาณากลยุทธ์ในการผลักดันนโยบายต่อไปในอนาคต

ถ้าเรามองการเกิดอุตสาหกรรมของทั่วประเทศนั้น เราจะเห็นได้ว่ามีฐานรากล้วนมาจากชุมชน แล้วขยับขยายมาสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม โจทย์ของวันนี้คือ ทำอย่างไรให้กลุ่มสินค้าเกษตรกรของเรา สามารถเพิ่มขนาดการผลิต โดยที่ไม่เสียอัตลักษณ์ของสินค้า โดยความร่วมมือจากกลุ่มต่างๆ ทั้งในแง่การศึกษา และเทคโนโลยี

ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งโรงงานรับจ้างผลิต เพื่อยกระดับให้ชุมชนรายเล็ก สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ โดยที่ไม่ต้องลงทุน เพื่อให้สามารถขยับขยายไปสู่การเติบโต บนแนวทางที่ควรจะเป็นได้อย่างยั่งยืนในอนาคต และท้ายที่สุดเราจะต้องสร้างแบรนด์เล็กๆของไทย ให้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกให้ได้

banner Sample

Related Posts