กลุ่มสื่อสาร อัดเทคโนโลยีอะไรบ้างในการช่วยค้นหาทีมฟุตบอลเยาวชน 13 ชีวิต

สื่อสาร

การติดต่อสื่อสารกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพที่สำคัญกับการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่และโค้ช 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เพราะนาทีนี้การได้รับรู้ข่าวสารแบบทันท่วงที เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้านเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ล่าสุด สำนักงาน กสทช. ภาค 3 และสำนักงาน กสทช. เขต 34 (เชียงราย)ได้แบ่งทีมเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 ชุด คือ 1. ชุดทีมตรวจสอบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่วิทยุบริเวณปากถ้ำหลวงฯ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารทุกย่านความถี่มีประสิทธิภาพ โดยใช้รถตรวจสอบจากสำนักงานเขต 34 (เชียงราย) ลงพื้นที่เต็มกำลัง

และ 2. ชุดทีมประสานงานด้านการสื่อสารหน่วยกู้ภัยและการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทุกค่าย ซึ่งการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่เริ่มพบอุปสรรคการใช้สัญญาณดาต้าในพื้นที่มีความหนาแน่น

โดยก่อนหน้านี้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กสทช. เขต 34 (จ.เชียงราย) ได้เข้าไปในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นตั้งแต่เมื่อวาน พร้อมทั้งได้ประสานงานกับโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 ราย

ได้แก่ AIS DTAC TRUE CAT และ TOT ให้เข้าไปในพื้นที่ เพื่อหันเสาสัญญาณไปทางปากถ้ำ และขยายช่องสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งขณะนี้ทุกรายได้ทำการขยายช่องสัญญาณให้สามารถรับโทรศัพท์ได้เร็วและกว้างขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่บริเวณปากถ้ำ และบริเวณพื้นที่โดยรอบได้

นอกจากนั้นทาง CAT ได้ทำการลากสาย Drop Wire จากปากถ้ำเข้าไปในถ้ำประมาณ 2.3 กิโลเมตร เพื่อให้สามารถใช้โทรศัพท์ประจำที่ในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่หน่วยซีลที่เข้าไปในถ้ำเพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือได้ และได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นตั้งศูนย์อำนวยการบริเวณปากถ้ำ พร้อมทั้งนำวิทยุสื่อสารเข้าไปใช้ในการติดต่อประสานงาน

รวมถึงการสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์วิทยุสื่อสารสำหรับเจ้าหน้าที่ และประสานงานเจ้าหน้าที่กู้ชีพ กู้ภัย ในการดำเนินการช่วยเหลือเด็ก เช่นเดียวกับ ทีโอที ที่ส่วนบริการลูกค้าจังหวัดเชียงรายได้ทำการติดตั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตผ่านระบบดาวเทียม IP STAR จำนวน 1 วงจร 2 MHz ให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ใช้งานเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติการค้นหาอีกแรงหนึ่ง

ฝั่งเอไอเอสได้เร่งดำเนินการเสริมกำลังเครือข่ายสื่อสารด้วยการระดมทีมงานวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายประจำพื้นที่เพื่อดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงสแตนด์บายทีมงานและวิศวกร ณ ศูนย์ปฏิบัติการส่วนกลาง เพื่อมอนิเตอร์การทำงานตลอดเวลา

โดยได้ส่งรถสถานีฐานเคลื่อนที่ หรือรถโมบายพร้อมทีมวิศวกรเดินทางถึงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเรียบร้อยแล้ว พร้อมเสริมเครือข่ายให้ระบบสื่อสารในบริเวณดังกล่าวเป็นไปอย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ทำการปรับจูนสัญญาณจากสถานีฐานใกล้เคียงด้วยการหันจานสายอากาศ (antenna) ไปยังบริเวณถ้ำหลวง และดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ทวนสัญญาณ (repeater) เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับการใช้งาน รวมไปถึงกำลังดำเนินการ ลากสายออพติกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของเอไอเอสไฟเบอร์ ที่เชียงราย เข้าไปที่พื้นที่เพื่อเปิดสัญญาน AIS WiFi ช่วยรองรับการใช้งานดาต้าและการสื่อสารอีกด้วย

เช่นเดียวกับ ทรูมูฟ เอช ได้ส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านสัญญาณเข้าไปดูแลปรับเพิ่มความเข้มของสัญญาณและติดตามอย่างใกล้ชิด และได้มีการเพิ่มอุปกรณ์ทวนสัญญาณ (Repeater) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีทีมช่างเทคนิคประจำพื้นที่เพื่อดูแลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนให้มีสัญณาณครอบคลุมในพื้นที่อย่างเต็มที่

ส่วนดีแทคได้ทำการส่งรถโมบายล์ขยายสัญญาณมือถือเข้าไปสมทบเพิ่มเติม หลังจากที่เมื่อวานนี้ดีแทคได้หันเสาสัญญาณไปยังด้านหน้าของถ้ำ และส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหากรณีนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนที่พลัดหลงเข้าไปในถ้ำหลวง ในวนอุทยานขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

นอกจากนั้นในช่วงแรกที่ผ่านมาดีแทคยังได้ปรับเสาสัญญาณที่อยู่ห่างจากถ้ำราว 1.5 กิโล เพื่อรองรับการใช้งานในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งส่งทีมงานดีแทคลงพื้นที่คอยติดตามข่าวและประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ

banner Sample

Related Posts