แกะรอย อูเบอร์ ปราชัย ‘แกร็บ’ ก่อนเสียรางวัดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อูเบอร์

จากปัญหาความเสี่ยงของการเรียกรถยนต์สาธารณะ จนเกิดเป็นบริการแชร์ริ่งคาร์ หรือบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น ที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญอย่าง อูเบอร์ สร้างตำนานสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในฝั่งตะวันตกที่เผยแพร่ไปทั่วโลก แต่วันนี้อูเบอร์เสียท่าให้กับแกร็บในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปอย่างราบคราบ และกลายสภาพเป็นบริษัทร่วมหุ้นที่มีสัดส่วน 27.5% ไปอย่างน่าเสียดาย

บทจบของเรื่องแกร็บและอูเบอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงไม่น่าสนใจหาก เป็นเพียงการบอกตอนท้ายที่สรุปสัดส่วนหุ้นและการแบ่งประโยชน์กันเท่านั้น TheReporter.asia จึงแกะรอยเรื่องราวของอูเบอร์และแกร็บที่น่าสนใจมาให้ผู้อ่านได้รู้บทของการเกิดขึ้น จวบจนสาเหตุของการเกิดวันนี้ที่ควบกิจการกันอย่างจริงจังของทั้ง 2ค่าย แชร์ริ่งคาร์ที่โด่งดัง

เริ่มต้นที่ อูเบอร์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นแชร์ริ่งคาร์ที่เกิดขึ้นก่อน โดยก่อนตั้งขึ้นในราวปี 2009 และในช่วงราว ธันวาคม 2016 หรือ 7 ปีหลังจากก่อตั้ง มูลค่าของบริษัทก็สูงถึง 7หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 2.3 ล้านล้านบาท และร่วงลงมากว่า 30% หลังเกิดการขายหุ้นให้กับกลุ่ม Softbank ในสัดส่วน 15% พร้อมพาร์ทเนอร์ที่ร่วมลงขันด้วยอีก 3% เป็นราว 18% พร้อมการส่งคนเข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารในอูเบอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากแต่ความพยายามครั้งนั้นกลับเป็นผลร้ายกับอูเบอร์เอง ไม่เฉพาะมูลค่าหุ้นที่ขายลดลงกว่า 30% ซึ่งทำให้มูลค่าบริษัทลดลงเหลือเพียง 4.8 หมื่นล้านเหรียญเท่านั้น เพราะเมื่อนักลงทุนเข้ามามีบทบาทในการบริหารบริษัทมากขึ้น ภาวะการณ์ขาดทุนในต่างประเทศ จากแผนการขยายตัวที่รวดเร็วเกินไปของ ทราวิส คาลานิก ซีอีโออูเบอร์ ก็ต้องถูกปรับโฉมใหม่

การไล่ปิดกิจการที่ไม่สร้างกำไร ทั้งในประเทศจีนเองที่ขายกิจการให้กับ Didi ผู้ให้บริการแชร์ริ่งคาร์รายใหญ่ของโลก ตลอดจนการควบรวมกิจการกับ Yandex ในรัสเซีย และภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้

ขณะที่แรงกดดันจากบอร์ดของ Softbank ที่ส่งคนเข้ามาร่วมบริหารด้วย 2 คนก่อนหน้านี้ยังสร้างปัญหาให้ผู้ก่อตั้งและซีอีโออย่าง ทราวิส จนเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จากเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่ลุกลามไปเป็นปัญหาที่ทั่วโลกจับตามองและท้ายที่สุดก็ต้อง ‘ลาออก’ จากธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยความรักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ อูเบอร์ ลาออก พร้อมๆกับแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ขึ้นแทน

โดยบอร์ดได้แต่งตั้ง ดารา โคสโรว์ชาฮี ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอูเบอร์คนใหม่ แน่นอนว่าการแก้ปัญหาและตั้งธงถอนตัวออกจากพื้นที่ขาดทุน และกลับมาโฟกัสที่เป้าหมายที่ตนเองถนัดเพื่อสร้างผลกำไร ตามการเติบโตของอูเบอร์ที่แท้จริงก็ยังไม่ลดละ จนนำมาซึ่งการประกาศขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคู่แข่งอย่าง แกร็บ เป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งการซื้อขายครั้งนี้ ครอบคลุมกิจการของอูเบอร์ที่กำลังดำเนินการอยู่ในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้มี ดารา โคสโรว์ชาฮี ซีอีโอของอูเบอร์จะเข้าไปมีส่วนในการบริหารแกร็บด้วยเช่นกัน โดยมูลค่าของการซื้อขาย ไม่แน่ชัดว่ามีมูลค่าเท่าใด แต่มีการแลกเปลี่ยนหุ้นในแกร็บราว 27.5% ให้กับอูเบอร์ด้วย

และเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น แกร็บและอูเบอร์จะทำงานร่วมกันในการย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ และผู้โดยสารจากแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ รวมไปถึงลูกค้าที่สั่งอาหาร ผู้จัดส่ง และพันธมิตรร้านอาหารจากแอพพลิเคชั่นอูเบอร์อีทส์ ไปยังแพลตฟอร์มของแกร็บ

โดยแอปพลิชั่นอูเบอร์จะให้บริการต่อไปอีกเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อให้เวลาแก่คนขับในการเข้าไปลงทะเบียนสมัครกับแกร็บทางช่องทางออนไลน์ที่ www.grab.com/th/comingtogether ในส่วนแอปอูเบอร์อีทส์นั้น จะให้บริการต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และหลังจากนั้นข้อมูลรายชื่อผู้จัดส่งและพันธมิตรร้านอาหารก็จะถูกถ่ายโอนไปยังแอปของแกร็บด้วยเช่นกัน

ทำให้ปิดฉากการดำเนินธุรกิจของอูเบอร์ในภูมิภาคนี้ไปโดยปริยาย แน่นอนว่าในมุมของแกร็บที่นับว่ามีความถนัดเพราะเข้าใจวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้มากกว่า ซึ่งก็เปิดบริการอยู่ใน 8 ประเทศนี้เช่นเดียวกัน จึงเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าที่มีอยู่ของทั้งสองให้กลายมาเป็นของแกร็บเพียงรายเดียวเท่านั้น

ซึ่งข้อมูลระบุว่า แกร็บมียอดการดาวน์โหลดเดิมอยู่กว่า 90 ล้านครั้ง และช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดของคนขับและตัวแทนกว่า 5 ล้านคน โดยให้บริการใน 195 เมืองใน 8 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่อูเบอร์เองเปิดบริการมากว่า 9 ปี มีผู้ใช้บริการกว่า 5 พันล้านเที่ยว ในกว่า 600 เมือง ของ 78 ประเทศทั่วโลก

banner Sample

Related Posts