ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ย้ำ ปรับโครงสร้างคือทางรอด TOT – CAT

ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ย้ำ การตั้งบริษัท NBN และ NGDC เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ใช่การแปรรูปเป็นเอกชน รายได้และทรัพย์สินเป็นของรัฐเหมือนเดิม แต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริการประชาชน

ช่วยลดค่าใช้จ่ายรัฐจากการลงทุนซ้ำซ้อน มั่นใจนำเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ Digital Economy ตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband Network: NBN) และการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (Neutral Gateway and Data Center: NGDC)

ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ว่า เป็นการปรับโครงสร้างของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการแก่ประชาชน

เป็นภารกิจสำคัญตามแผนแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ โดยบริษัท NBN และ NGDC ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นบริษัทลูกของทั้ง ทีโอที และ กสท จึงมิใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และ ไม่ใช่คู่แข่งของบริษัทแม่

“ ในอดีต ทั้งทีโอที และกสท มีรายได้หลักมาจากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน จากผู้ให้บริการโทรคมนาคม แต่ปัจจุบัน สัญญาเหล่านี้เริ่มสิ้นสุดไปแล้ว โดยเปลี่ยนไปเป็นใบอนุญาตจาก กสทช. รายได้ส่วนนี้ของ ทีโอที และ กสท จึงหายไป

ส่วนรายได้จากการให้บริการอื่นๆ เช่น โทรศัพท์บ้าน ตลาดก็ลดลงมาก ส่วนบริการโทรศัพท์มือถือ บริการ internet บริการ data center ก็มีการแข่งขันสูงมากกับภาคเอกชน จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้สามารถแข่งขันได้” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างของทั้งสองบริษัท ด้วยการตั้งบริษัทลูก ทั้ง NBN และ NGDC มีเป้าหมายเพื่อนำโครงสร้างพื้นฐานที่ทั้งสองบริษัททำธุรกิจซ้ำซ้อนกันมารวมกันเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อนในอนาคต

เช่น เคเบิลใยแก้วนำแสง เคเบิลใยแก้วใต้น้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ นอกจากนี้จะช่วยให้ประเทศมีหน่วยงานหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการขยายโครงข่ายในอนาคต

เพื่อรองรับความต้องการของภาครัฐและการบริการสาธารณะ ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สร้างโอกาสการตลาดให้สินค้าในท้องถิ่น และช่วยให้บริกรภาครัฐเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อนำไปสู่ Thailand 4.0

นอกจากนี้ บริษัท ทีโอที และ กสท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 100% ก็จะได้ประโยชน์จากผลกำไรของ NBN และ NGDC และยังดำเนินธุรกิจในส่วนที่ไม่ได้โอนไปให้ NBN หรือ NGDC เช่น ธุรกิจท่อร้อยสายใต้ดิน และธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม หรือ บริการด้านดิจิทัลต่างๆ

โดยมี NBN และ NGDC ดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้ ซึ่งแม้จะมีรัฐถือหุ้น 100% แต่ NBN และ NGDC จะบริหารงานในรูปแบบใหม่ ลดต้นทุนทุกด้านให้อยู่ในระดับเดียวกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้แข่งขันได้กับเอกชน

ในอนาคต ประชาชนคนไทยก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนไปแล้วให้ได้ประโยชน์สูงสุด และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล

สำหรับการโอนย้ายอุปกรณ์โครงข่ายบรอดแบนด์ของทั้ง ทีโอที และ กสท ไปยังบริษัทลูกทั้งสองแห่งนั้น ถือเป็นการโอนย้ายทรัพย์สินจากรัฐไปสู่รัฐ ดังนั้น ทรัพย์สินดังกล่าวยังคงเป็นทรัพย์สินของรัฐเช่นเดิม

นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวด้วยว่า การจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) เป็นไปตามนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 ถึงช่วงปลายปี 2560

banner Sample

Related Posts