3 ค่ายมือถือเตรียมพร้อมเครือข่ายทุกด้านรับมือ “ปาบึก”

ปาบึก

สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ไม่เพียงแต่จะส่งผลทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ภาคใต้ และกระทบกับความปลอดภัยของประชาชนเท่านั้น แต่อาจจะเชื่อมโยงไปสร้างความเดือดร้อนให้อีกหลายด้าน

การสื่อสารจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการเป็นไปได้อย่างราบรื่นและทันเหตุการณ์ และเป็นที่น่ายินดีที่ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้

AIS ได้ออกมาแสดงความห่วงใยและเตรียมพร้อมที่จะดูแลเครือข่ายเต็มที่ รับสถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” โดยนางวิไล เคียงประดู่ Head of Public Relations บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า AIS มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” จึงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โดยเตรียมความพร้อมทั้งด้านเครือข่าย อุปกรณ์ และบุคลากร รวมถึงเตรียมมอบความช่วยเหลือด้านระบบสื่อสารให้ยังคงพร้อมบริการได้อย่างดีที่สุดในเบื้องต้น

เริ่มจากการดูแลเครือข่ายและควบคุมคุณภาพการให้บริการ AIS ได้จัดเตรียมรถสถานีฐานเคลื่อนที่และทีมงานวิศวกร ลงพื้นที่ดูแลสัญญาณและสถานีฐานในเขตภาคใต้ตลอด 24 ชม. ตลอดจนเตรียมจัดตั้ง War Room เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกับทุกหน่วยงาน ในการบริหารจัดการเครือข่าย เพื่อให้ลูกค้าในพื้นที่ประสบภัยสามารถติดต่อสื่อสารบนเครือข่าย AIS ได้อย่างปกติ

จัดเตรียมอุปกรณ์ปั่นไฟ และน้ำมัน ในกรณีหากมีการตัดกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อให้สถานีฐานของ AIS ในพื้นที่สำคัญ สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงทำการจัดเตรียมน้ำดื่ม และถุงยังชีพ มอบให้แก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุ

และ AIS ยังเตรียมดูแลลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนให้สามารถติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างไม่ติดขัด โดยจะไม่ตัดสัญญาณโทรศัพท์และยืดเวลาการชำระค่าบริการให้ลูกค้าทั้งระบบเติมเงินและรายเดือนอีกด้วย

เช่นเดียวกับทรูที่ได้ทำการทรูตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังเครือข่ายสื่อสารเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ ด้วยการลงพื้นที่เฝ้าระวังพายุ 16 จังหวัด และได้เตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบอุปกรณ์ชุมสาย และเตรียมแหล่งพลังงานสำรองพร้อมหากเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง

 

เทศกาล

พร้อมส่งรถโมบายล์ชุมสายเคลื่อนที่เร็วจากทั่วประเทศลงประจำทุกจังหวัดเฝ้าระวังและเพิ่มทีมวิศวกรทรูมูฟ เอช และไฟเบอร์ทรูออนไลน์เข้าประจำพื้นที่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมการประสานงานและรายงานการให้บริการต่อ กสทช. ตามที่ กสทช. ขอความร่วมมือ

นายอดิศักดิ์ ประสงค์ทรัพย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการโครงข่าย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสื่อสารโทรคมนาคมนับเป็นบริการสาธารณูปโภคที่จำเป็นต้องพร้อมบริการลูกค้าให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกสถานการณ์

โดยเฉพาะสถานการณ์วาตภัยจากพายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ที่มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังในเขตจังหวัดภาคใต้และภาคกลาง ระหว่างวันที่ 3 – 7มกราคมนี้ ทีมเน็ตเวิร์คกลุ่มทรูได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ 16 จังหวัดเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแบบเรียลไทม์

พร้อมวางมาตรการป้องกันสถานีชุมสาย เตรียมระบบไฟฟ้า และน้ำมันสำรองไว้เป็นจำนวนมากให้เพียงพอต่อสถานีฐานสำหรับใช้กรณีเกิดไฟฟ้าดับ เพื่อให้สามารถดำเนินการให้บริการได้อย่างต่อเนื่องทันที

รวมทั้งประสานทุกภาคทั่วประเทศให้จัดส่งรถโมบายล์ชุมสายเคลื่อนที่เร็วลงประจำทั้ง 16 จังหวัดเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินกรณีไซต์ล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน ปาบึก

อาทิ บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อีกทั้งยังได้เพิ่มทีมวิศวกรเฝ้าระวังในพื้นที่ใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งชุมสายระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ยังได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทีม True Recovery and Rescue team จัดเตรียมชูชีพ รองเท้าบูท ชุดตรวจสอบไฟรั่ว รถยกสูง เรือท้องแบน เพื่อให้การดำเนินการของทีมงานเป็นไปอย่างปลอดภัยสามารถดูแลเครือข่ายเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ 1242 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีการประสานงานและรายงานการให้บริการต่อ กสทช. ตามที่ กสทช.ขอความร่วมมือด้วย

ปาบึก

ส่วนดีแทคก็ได้จัดเตรียมทุกอย่างแบบเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมแผนรับมือภัยพิบัติกรณีพายุ “ปาบึก” เข้าภาคใต้ผ่านอ่าวไทย ขึ้นฝั่งที่ชุมพร-สุราษฎร์ธานี สำหรับการป้องกันสถานีชุมสายและสถานีฐานให้บริการอย่างต่อเนื่อง

พร้อมส่งรถโมบายล์ลงพื้นที่ภาคใต้ให้บริการสื่อสารเพิ่มเติมกรณีฉุกเฉินจากพายุลมแรง ฝนตกหนักและวิกฤตน้ำท่วมฉับพลัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้เตรียมความพร้อมโครงข่ายให้บริการสื่อสารกรณีภัยพิบัติจากพายุปาบึก

โดยได้เฝ้าระวังพื้นที่พิเศษ 16 จังหวัด คือ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง ภูเก็ต และสตูล เพื่อรับมือในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินจากพายุและน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง

นอกจากทีมดีแทคประจำภาคใต้จะเตรียมพร้อมสำหรับให้บริการในพื้นที่แล้ว ดีแทคยังเตรียมทีมชุดภาคกลางและตะวันออกลงเสริมในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ ดีแทคได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อร่วมมือกันในการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่นช่วยขนย้ายสิ่งของจำเป็น ลำเลียงอุปกรณ์ช่วยเหลือ

และรวมถึงเตรียมข้อมูลสำคัญในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ติดตามสถานการณ์พายุปาบึกอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ดีแทคยังพร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เข้าช่วยเหลือและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยในพื้นที่อีกด้วย

โดยการเตรียมพร้อมของดีแทคในการรับมือพายุปาบึก และป้องกันชุมสายและสถานีฐานเพื่อให้บริการได้ต่อเนื่องในภาวะฉุกเฉิน มีดังนี้ 1. จัดเตรียมพร้อมรถโมบายล์เคลื่อนที่ภาคใต้ เพื่อให้บริการในสถานการณ์ฉุกเฉินจากฝนตกหนักและน้ำท่วม พร้อมทั้งได้เตรียมรถโมบายล์ในพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น ภาคกลางและตะวันออก เข้าเสริมในพื้นที่ภาคใต้

  1. จัดเตรียมเครื่องปั่นไฟฟ้าฉุกเฉิน และเตรียมน้ำมันสำรองไว้สำหรับกรณีที่มีการตัดกระแสไฟฟ้า โดยสถานีฐานดีแทคจะสามารถให้บริการต่อเนื่องได้หลังจากที่มีการตัดกระแสไฟฟ้า พร้อมกันนี้ ดีแทคได้มีการบริหารจัดการการใช้กระแสไฟฟ้าในสถานีฐานอย่างเหมาะสมและเป็นการลดกำลังการใช้งานเพื่อให้พลังงานที่มีอยู่ได้ใช้อย่างคุ้มค่าและยาวนานในกรณีน้ำท่วมและถูกตัดกระแสไฟฟ้า

3. จัดเตรียมพาหนะสำหรับลงพื้นที่ เช่น รถขับเคลื่อน 4 ล้อ และเรือท้องแบน สำหรับการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่สถานีฐานเพื่อดูแลและซ่อมแซมได้ทุกพื้นที่

  1. จัดเตรียมอะไหล่สำรองในการซ่อมบำรุง (Spare Parts) สำหรับชุมสายและสถานีฐานในกรณีฉุกเฉินจากพายุและน้ำท่วม

  2. จัดเตรียมทีมงานโครงข่ายคอยตรวจสอบ และดูแลโครงข่ายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งประสานงานกับทีมในภูมิภาคต่างๆ ของดีแทคในการเข้าช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีการปรับแผนเรื่องกำลังคนเป็นระยะให้เหมาะสมต่อสถานการณ์

6. ประสานงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช. องค์การโทรศัพท์ รวมทั้งสถานีตำรวจ และโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ

  1. ประสานงานตลอดเวลากับการไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีการจ่ายไฟฟ้าให้กับชุมสายดีแทคอย่างต่อเนื่องในกรณีที่ต้องมีการตัดกระแสไฟฟ้าบางส่วนในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก

banner Sample

Related Posts